“มานิ”ชนเผ่าแอฟริกันผู้เป็นเอเชี่ยน

มานิ ชนเผ่าเชื้อสายแอฟริกันที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน คนใต้ของประเทศไทยจะรู้จักกันดีในชื่อ ” ซาไก ” หรือ “เงาะป่า”

MANI TRIBE : ONE OF THE AFRICAN NATIVES OF ASIA

ถ้าหากจะพูดถึง “มานิ” หลายคนคงไม่คุ้นเคยไม่คุ้นหู หรือแม้แต่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นคำว่า เงาะป่า หรือ ซาไก ภาพก็คงจะชัดขึ้นมาในจินตนาการของเราท่านทันที  เมื่อประสบพบกับโอกาสอันดีที่ได้เข้าไปพบกับชาวมานิตัวจริงเสียงจริงจากการได้ไปเที่ยวตะลอนในจังหวัดสตูล ก็ขอบันทึกประสบการณ์ออกมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

จากข้อมูลที่เราไปสืบค้นมานั้น ชาวมานิในเมืองไทย พวกเขาคือชาวแอฟริกันแท้ๆที่อพยพมาในถิ่นฐานนี้ตั้งแต่ก่อนจะมีกลุ่มคนเอเชียเข้ามาจับจองเสียอีก ตั้งแต่การอพยพมาในครั้งนั้นได้เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาบรรทัด และกระจายกันไปเรื่อยๆจนไปถึงเขตประเทศมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่าคือเชื้อสายเดียวกันค่ะ แรกเริ่มเดิมทีจะพบพวกเขาได้ที่จังหวัดตรัง จากคำบอกเล่า ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยเดิม เกิดมาจากว่าอยู่ตรงไหนก่อไฟขึ้นมา เครื่องบินเกิดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นศัตรูก็ปล่อยระเบิดลงมา ทำให้ต้องอพยพย้ายหนีกันไปเรื่อยๆจนในที่สุดก็มาถึงจังหวัดสตูล 

“Maniq แปลว่า Human Being”

เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายโมง ผู้ดูแลพื้นที่บริเวณนั้น นัยหนึ่งคือผู้ที่ติดต่อดูแลและคอยให้ความช่วยเหลือชาวมานิ ได้นัดแนะจัดเตรียมความพร้อมของเรา “ผู้มาเยือน” ณ บริเวณทางเข้าที่สามารถเดินไปยังจุดที่ชาวมานิมาตั้งเขตพื้นที่อาศัย ซึ่งบริเวณที่นัดพบก็คือริมถนนในหมู่บ้านของตำบลเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดสตูลค่ะ    คณะของเรามีกันหลายคนและเราไม่ได้เข้าไปในฐานะผู้มาเยือนตัวเปล่า แต่เข้าไปในฐานะผู้มาเยือนพร้อมของฝาก ซึ่งก็มีอาหารแห้ง ขนม ไข่ไก่ ของดำรงชีพพื้นฐาน ที่มีผู้บริจาคมานั่นเอง 

การเข้าไปถึงชนเผ่ามานิ นั้นไม่ยากเพียงแค่ใช้ฝีเท้าเดินเข้าไปพื้นที่ ที่เรานัดพบกันริมถนน ซึ่งบริเวรนั้นมีบ้านเพียงไม่กี่หลัง เดินสัก 5-10นาที ก็มาถึงเขตแดนที่พวกเขาอาศัยแล้วค่ะ สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเขานั้นสังเกตไม่ยาก นั่นคือ “บ้าน” ที่เป็นแบบฉบับชาวป่าจริงๆ ทำด้วยการใช้ใบไม้สานเป็นกำแพงและหลังคา ท่อนไม้มาทำโครงเตี้ยๆตัดใบกล้วยมาคอยแปะทับบนหลังคาแล้วอยู่อาศัยในนั้น หากบ้านมีการทรุดโทรมพวกเขาจะใช้วิธีย้ายบริเวณ แทนการซ่อมหรือสร้างใหม่ในที่เดิม ตั้งแต่หลุดมายืนในพื้นที่นี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ประเทศไทยที่คุ้นเคยเลย รู้สึกตื่นเต้นและน่าสนใจมากๆ 

 

“อย่าเรียกเขาว่าซาไก..เขาไม่ใช่ซาไก”

การเข้ามาถึงที่นี่สิ่งแรกๆที่ได้เรียนรู้เลยก็คือ “เขาไม่ใช่ซาไก” เป็นสิ่งที่เปิดโลกของเราไม่น้อย เพราะเราผู้โง่เขลาก้าวขาเข้าไปด้วยคำว่า “ซาไก” คำนี้คำเดียวเท่านั้น 

เขาไม่ใช่ซาไก – ชายผู้หนึ่งในชนเผ่าที่พอจะสื่อสารภาษาไทยได้บอกเล่าเอาไว้ เขาอธิบายไว้ว่า ความจริงแล้ว คำว่าซาไกแปลว่า “ทาส” และพวกเขาไม่ใช่ทาส เขาให้เรียกพวกเขาว่า “มานิ” เรากลับมาค้นคว้าหาความหมายของคำนี้เพิ่มเติมจึงได้เข้าใจว่า  Maniq แปลตรงๆแปลว่า Human Being หรือแปลว่า มนุษย์ ซึ่งมานินั้นเป็นภาษา Tonga หรือ ภาษาที่พวกเขาใช้สื่อสารเป็นภาษาหลักนั่นเอง  

พวกเขาไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ แต่กลับกันวัฒนธรรมของพวกเขาคือการอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ (Band) กลุ่มหนึ่งมีเพียงสองถึงสามครอบครัว แต่ละกลุ่มก็จะกระจายกันอยู่ไม่ไกลกันมากนัก แต่หากจะนับในพื้นที่เดียวก็อาจมีหลายๆกลุ่มที่นับจำนวนแล้วคงรวมกันได้หลายร้อยชีวิตเชียวล่ะ เพราะในครอบครัวของกลุ่มๆหนึ่งมีกันหลายชีวิต

ไม่มีเวลาอ่าน?

เซฟลงพินเทอเรสไว้อ่านทีหลังก็ได้นะ

    หากนึกภาพไม่ออกว่าหนึ่งครอบครัวนั้นใหญ่ขนาดไหน เราจะยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งของ “กำนัลไข่” ผู้ที่สามารถพูดภาษาไทยและติดต่อกับโลกข้างนอกได้อย่างคล่องแคล่ว 

กำนัลไข่ – มีภรรยาทั้งหมด 3คน และมีลูกรวมกันทั้งหมด 17คน โอ้โหคงยังน้อยไปสำหรับความใหญ่ของครอบครัวนี้ การสร้างครอบครัวในวัฒนธรรมของชนเผ่านี้จึงเกิดขึ้นได้ง่ายและไม่ไกลไปจากเดิมด้วยที่ตั้งของกลุ่มที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน รู้จักกันหมด การวนเวียนกันอยู่ในเผ่าๆเดียว ที่ไม่ได้มีตัวเลือกมากนักจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นเรื่องธรรมดา จากสมมติฐานข้างต้นก็พอจะเดาได้ว่า ในจำนวนหลายร้อยของบรรดาชนเผ่าที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ ก็อาจจะเป็นญาติกันหมดเลย 

ว่ากันด้วยเรื่องไป “ขุดมัน”

เมื่อพูดเรื่องการสร้างครอบครัวแล้วจะไม่พูดเรื่อง ธรรมเนียมการเลือกคู่กันได้อย่างไรล่ะคะ ผู้ดูแลที่นี่เล่าว่า เมื่อฝ่ายชายชอบหญิงสาวคนไหนก็จะชวนฝ่ายหญิงไป “ขุดมัน” นั่นเอง ฟังถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเข้าป่าไปขุดมันมากินนะคะ นัยยะในคำเชิญชวนไปขุดมันก็คือมาชวนไปทำอย่างอื่น หากไปหญิงตอบตกลงเป็นอันว่า โอเครู้เรื่องกันทั้งสองฝ่ายว่าชอบพอกันและกัน เพราะเมื่อขุดมันเสร็จออกมาจากป่า พวกเขาก็จะประกาศการเป็นสามีภรรยากันเลยทันที !!! 

แต่อีกข้อมูลที่เราได้หาเพิ่มเติมก็คือมันก็ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้นค่ะ ในช่วงอายุที่พร้อมออกเรือนแล้ว หญิงสาวก็จะแต่งตัวให้สวยงามเช่นมีการทัดดอกไม้ไว้ที่หู ส่วนชายหนุ่มก็จะทำตัวเองให้ดูดีเช่นกัน เช่นออกล่าสัตว์แสดงความแข็งแรง หรือ ขยันทำงานเพื่อให้สาวๆที่ตนชอบประทับใจ และชาวมานิให้ความสำคัญเรื่องความบริสุทธิ์ก่อนแต่งงานมากเป็นอันดับหนึ่ง คือแม้แต่น้องชายแตะต้องโดนตัวก็จะถือว่าไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะฉะนั้นเขาจะถือมากๆว่าต้องแต่งงานก่อน 

การแต่งงานก็คล้ายๆกับของคนเมืองคือเมื่อเกิดชอบพอรักใคร่หญิงสาวแล้วตกลงใจจะแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็จะให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ไปสู่ขอหญิงสาว ถ้าผู้ปกครองฝ่ายหญิงตอบตกลง ก็จะมีการกำหนดวันแต่งงานในลำดับถัดมา  

พวกเขากลัวผีกันนะ 

พวกเขากลัวผีกันนะ – ผู้ดูแลพื้นที่เล่าให้ฟัง ไม่แน่ใจว่าเกิดจากมีประสบการณ์เจอผีหรือไม่อย่างไร แต่ความกลัวนี้มีอิทธิพลทำให้เกิดวัฒนธรรมหนึ่งในชนเผ่านั่นก็คือ “การย้ายหนี” ก็คือถ้ามีคนในกลุ่มเสียชีวิต ล้มหายตายจากกันไปก็ทำพิธีฝัง ส่วนคนที่ยังมีลมหายใจที่เหลือก็ไปเก็บของ เตรียมไปหาที่อยู่ใหม่กันเลยทันที นั่นก็เพราะมาจากความเชื่อของพวกเขา ที่เชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้วจะเป็นวิญญาณ แล้ววิญญาณนี้จะตามมาหลอกหลอนคนที่ตนไม่ชอบหรือเกลียดตอนยังมีชีวิตอยู่ และไม่ว่าใครก็ตามจะเป็นญาติพี่น้องคนในครอบครัว ก็สามารถโดนวิญญาณทำร้ายได้ นี่เองเป็นเหตุให้เมื่อมีคนตาย ก็จะมีการย้ายหนีออกไปทันที และไม่กลับมาอีก  

เรื่องการย้ายหนี ไม่เพียงแต่มีคนเสียชีวิตเท่านั้น หากแต่บริเวณรอบๆที่อาศัยนั้น “เต็ม” คือเต็มที่เกิดจากการขับถ่ายของสมาชิก จนไม่มีที่ว่างเหลือแล้วพวกเขาก็ เปลี่ยนที่ ย้ายไปที่อื่นเหมือนกัน 
ตรงนี้คงสงสัยเหมือนเราว่าเต็มได้อย่างไร ไม่ฝังเหรอ? คำตอบคือ ไม่ ! มันถึงเต็มไงแบบอาจจะเดินไปตรงไหนก็เจอกับดักเยอะ จนหลบไม่ได้งั้นย้ายที่อยู่ไปเลยดีกว่า ง่ายดี 

ไม่ว่าโลกจะหมุนเวียนไปเพียงไหนแต่ชาวมานิที่นี่ก็ยังคงรักษาความเป็น Forest people หรือคนป่า ไว้ได้ แม้จะไม่เต็มร้อยเท่าสมัยก่อน  ชาวมานิที่นี่ยังคงออกล่าสัตว์ เก็บพืชเป็นอาหาร เหมือนกับชนเผ่าที่อาศัยในป่าตามสารคดีที่พวกเราได้เคยชม 

แต่ที่บอกว่าไม่เต็มร้อยนั่นก็เพราะว่าอีกด้านก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเช่นกัน เช่นเรื่องเสื้อผ้าการแต่งกายก็จะใส่แบบคนเมืองมากขึ้น (แต่ก็แอบเห็นเครื่องประดับที่มาจากสัตว์ที่ตัวเองล่าไว้เช่นฟันสัตว์) ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีในเรื่องของภาษา บางคนเริ่มรู้ภาษาไทยมากขึ้นเพราะเกิดจากการเข้ามาติดต่อกับคนในเมือง  ตอนนี้ส่วนมากก็มีบัตรประชาชนเหมือนคนทั่วไปเพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล เจ็บไข้ได้ป่วยหรือทำคลอด ตอนนี้ก็ไปที่โรงพยาบาลกัน ส่วนเด็กรุ่นใหม่ๆก็ได้เรียนหนังสือได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานยกระดับคุณภาพชีวิตตามลำดับ 

ชนเผ่ามานิรุ่นใหม่จะออกมามีชีวิตในเมืองมากขึ้นแน่นอน นั่นเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ความเจริญรุดหน้าไปทุกหย่อมหญ้าตามวันเวลาที่ล่วงเลย  ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะยังเห็นวิถีมานิเดิมๆแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่      อย่างมานิกลุ่มนี้ที่ได้เข้าไปสัมผัส  โลกภายนอกก็ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรงไม่ว่าจะทั้งอาหารการกินหรือแม้แต่ภาษา มีรีสอร์ทรายล้อมบริเวณที่พวกเขาพักอาศัย พี่ที่ดูแลเล่าว่า มีการบริจาคอาหาร เครื่องนุ่งห่ม จนบางครั้งพวกเขาก็เลือกจะรอรับอย่างเดียวจนละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิม ซึ่งนั่นคงเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ทุกอย่างคงต้องหมุนไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกับโลกใบนี้ค่ะ 

ขอจบเรื่องมานิไว้เพียงเท่านี้นะคะ เรื่องทั้งหมดที่เล่ามานี้เราได้รับข้อมูลมาตอนเข้าไปพบพวกเขาค่ะ มีมานิที่พูดไทยได้เล่าให้ฟัง ผสมกับพี่ผู้ดูแลมานิกลุ่มนี้ผู้ที่ได้เห็นได้สัมผัสคลุกคลีกับมานิอย่างใกล้ชิดเล่าให้ฟัง บวกกับการค้นคว้าหาข้อมูลในจากที่อื่นๆทั้งไทยและต่างประเทศ หากผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

ถ้าใครอยากพบเจอพวกเขา ลองเดินทางไปที่ อำเภอมะนัง จังหวัดสตูลดูนะคะ ลองถามคนที่นั่น น่าจะได้คำตอบไม่ยาก ว่าตอนนี้พวกเขาตั้งกลุ่มอยู่อาศัยกันที่ไหน 🙂 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *